หากพูดถึงต้นไม้ที่ปลูกง่าย ตายยาก แถมยังทนทานสุด ๆ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงแคคตัสหรือ กระบองเพชรเป็นอันดับต้น ๆอย่างแน่นอน เมื่อปีที่แล้วนี่เองค่ะดิฉันเพิ่งย้ายบ้านใหม่และเผลอเก็บแคคตัสต้นน้อยไว้ ในถุงเก็บของใบหนึ่ง ผ่านไปหลายเดือนกว่าจะได้เปิดถุงใบนั้นอีกครั้ง เชื่อไหมคะว่าแคคตัส 3 ต้นนั้นยังไม่ตายทั้งๆที่ไม่ได้รับแสงแดดและน้ำมานานแล้ว (ต้นเพียงยืดผิดรูปทรงไปหน่อยเท่านั้นเอง) ใครเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยปลูกต้นอะไรสำเร็จลองจดแคคตัสไว้ในใจกันดูดีไหมคะ ซื้อมาลองเลี้ยงสักต้นสองต้น ไม่แน่ว่าอาจกลายเป็น สวนแคคตัส สวย ๆแบบผู้ชายคนนี้ก็เป็นได้
เราขับรถเข้าซอยที่แยกจากถนนรามคำแหง ผ่านตลาดที่แสนจะจอแจด้านหน้ากระทั่งเข้ามาถึงบ้านเดี่ยวขนาด 145 ตารางวาซึ่งดูเงียบสงบภายใต้เหล่าต้นไม้อันแสนร่มรื่นหลังนี้ คุณอนุภาพ พงษ์นะเมตตา เจ้าของบ้านและผู้กำกับหนังโฆษณาของ Mucky-Muck Co., Ltd. เล่าว่าเพิ่งจะย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ได้สองปีกว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าซึ่งต่อเติมใหม่ เดิมเคยมีพญาสัตบรรณขนาดใหญ่มาก แต่กิ่งและรากแผ่เข้าไปยังข้างบ้านจึงจำเป็นต้องตัดออกเหลือเพียงปีบริม รั้วหน้าบ้านไว้ รอบบริเวณบ้านจัดวางพรรณไม้หลากชนิดทั้งที่รูปทรงแปลกตาและที่คุ้นเคยกันดี เป็นกลุ่มเป็นมุมตามลักษณะนิสัยของพืชในกลุ่มนั้น ๆ มีทั้งพรรณไม้แบบสวนเมืองร้อนซึ่งดูร่มรื่นขนานไปกับที่จอดรถและข้างบ้าน แต่ที่เด่นที่สุดคือ สวนแคคตัส แบบทะเลทรายและโรงเรือนกระจกประตูสีแดงสดหน้าตาทัน สมัย ดูเหมือนสวนตามบ้านในต่างประเทศ
“ผมเก็บพรรณไม้แปลกๆไว้เยอะมาก เก็บมั่วไปหมด ทั้งไม้เขตร้อน เขตร้อนชื้น และกล้วยไม้พันธุ์ต่าง ๆ แต่นี่ถือว่าน้อยแล้ว เพราะไม่ได้สะสมแบบนักวิชาการ จะเลือกดูที่รูปทรงแปลกและน่าสนใจมากกว่า การจัดสวนของผมก็จะเน้นการจัดวางตำแหน่งตามทิศทางของแสงแดด เช่น หน้าบ้านเป็นสวนทะเลทรายและเรือนกระจกปลูกแคคตัส เพราะรับแดดได้ดี ส่วนหลังบ้านที่ได้ร่มเงาจากตัวบ้านก็จัดสวนแบบทรอปิคัล ใช้พรรณไม้ที่ดูร่มรื่น
“ก่อนหน้านี้ผมอยู่คอนโดมิเนียมครับ บางครั้งไม่อยู่บ้านหลายวันก็จะมีแต่แคคตัสที่เหลือรอดอยู่ได้ โดยส่วนตัวจะชอบรูปทรงของแคคตัสที่มีความหลากหลายและเคยประทับใจกับสวนแค คตัสที่อยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ คิดว่าถ้ามีบ้านจะจัดสวนแนวนี้ แต่ที่เห็นบางส่วนเป็นพรรณไม้เมืองร้อนก็เพราะพื้นที่บ้านส่วนนี้ไม่ค่อยได้ รับแสงเท่าที่ควร ก็จะมีพวกปาล์มและเฟินที่พออยู่ได้ แม้ว่าพรรณไม้ที่ผมปลูกจะมีความแตกต่างทั้งสภาพความเป็นอยู่และการเลี้ยงดู แต่ด้วยความชอบทั้งสองชนิด ก็เลยรู้สึกไม่ยุ่งยาก หากเราศึกษาการเลี้ยงดูให้ดี ๆ”
ลานไม้เล็กๆหน้าโรงเรือนจัดเป็นมุมพักผ่อนขนาดย่อมใต้ต้นไม้ที่ร่มรื่น เมื่อเดินต่อมาตามทางเดินจะผ่านกระบะขนาดใหญ่สีดำสนิทซึ่งเต็มไปด้วยแคคตัส และไม้อวบน้ำหลากหลายสายพันธุ์ สุดทางเดินคือนอกชานกว้างที่เชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างบ้านกับสวนได้อย่างกลม กลืน ส่วนข้างบ้านมีพรรณไม้เมืองร้อนหลากชนิดได้แก่ ปาล์มชนิดต่าง ๆ กล้วยไม้ จั๋ง เฟิน ซึ่งให้บรรยากาศของป่าเขตร้อนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไอเดียการจัดสวนส่วนใหญ่เจ้าของบ้านได้จากหนังสือต่างประเทศ จึงเห็นได้ว่าสไตล์การจัดสวนและรายละเอียดต่างๆดูแปลกตาจากสวนทั่วไปที่คุ้น เคยกัน
“ผมสังเกตว่าบ้านเราไม่ค่อยจัดสวนแนวนี้เท่าไร ผมก็ลองผิดลองถูกเอาเอง เคล็ดลับก็คือต้องศึกษาและทำความเข้าใจพรรณไม้ชนิดนั้นๆให้ดี เช่น ต้นกำเนิดมาจากไหน ชอบแสงมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่รู้จะดูจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต บางครั้งก็สอบถามจากเจ้าของร้านที่ซื้อต้นไม้ และทดลองเลี้ยงจากต้นเล็กๆก่อน ช่วงนี้ผมชอบพวก Harworthia ส่วนแคคตัสจะชอบพวก Uebelmania และพวกหนามสวยๆ เช่น Echinocactus,Ferocactus สังเกตว่าจะมีเยอะมากในโรงเรือน สำหรับการดูแลต้นไม้ส่วนใหญ่ผมจะใช้เวลาช่วงเช้าถือถ้วยกาแฟเดินสำรวจต้น โน้นต้นนี้ ให้ปุ๋ยรดน้ำ ย้ายตำแหน่งบ้าง เป็นการออกกำลังและฝึกสมาธิไปในตัวครับ”
จากแคคตัสต้นเล็ก ๆเพียงไม่กี่ต้นที่ค่อยๆปลูกเลี้ยงจนเติบโตและขยายออกมาเป็นสวน นับได้ว่าเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์ในการนำพรรณไม้ที่ชอบและสะสมมาจัดสวนได้ อย่างน่าชื่นชม
“ทุกวันนี้ผมก็ยังต้องศึกษาไปเรื่อยๆ ผมว่าความสนุกก็อยู่ตรงนี้ละ”
เรื่อง: “วรัปศร”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เจ้าของ-ออกแบบ: คุณอนุภาพ พงษ์นะเมตตา
ชมภาพ 360 องศา เพิ่มเติมได้ที่นี่
วรัปศร
สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
The post “สวนแคคตัส” ปลูกง่าย…ตายยาก appeared first on บ้านและสวน.