Quantcast
Channel: บ้านและสวน
Viewing all articles
Browse latest Browse all 9916

BUSABA AYUTTHAYA มิติการออกแบบของจุดร่วมสถาปัตยกรรมระหว่างยุคสมัย

$
0
0

หลังจากความสำเร็จของ บุษบาคราฟต์แอนด์ดีไซน์คาเฟ่ คาเฟ่สุดเก๋หน้าวัดมหาธาตุ อยุธยา คุณมิ้ง พรเทพ แซ่ลี้เจ้าของและผู้อยู่เบื้องหลัง แบรนด์บุษบา แบรนด์สินค้าคนไทยที่นำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างผ้าขาวม้ามาออกแบบเป็นสินค้าร่วมสมัยหลากหลายรูปแบบก็ได้สานต่อโปรเจคในนามของแบรนด์บุษบาให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ด้วยคาเฟ่แห่งที่สอง BUSABA CAFÉ & MEAL คาเฟ่ที่เสิร์ฟทั้งเมนูคาวหวานโดยนำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาดัดแปลงเมนูใหม่ ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และไฮท์ไลท์ก็คงจะหนีไม่พ้นโรงแรมที่รีโนเวตเรือนไทยดั้งเดิมให้กลายเป็นที่พักร่วมสมัยสุดเท่อย่าง BUSABA AYUTTHAYA ท่ามกลางบรรยากาศริมน้ำบนถนนเส้นอู่ทองเมืองอยุธยา

จากเรือนไทยเก่าแก่ที่ตกทอดจากคุณตาข้างบ้านของคุณมิ้งได้ทีมสถาปนิกจาก TIDTANG STUDIO ที่เคยร่วมงานกันในโปรเจค BUSABA CRAFT DESIGN CAFE เข้ามาชุบชีวิตเรือนไทยหลังเก่าริมน้ำอายุร่วม 50 ปีให้กลายเป็นเรือนไทยร่วมสมัยในรูปแบบ CONCEPTUAL HOTEL ที่ไม่เพียงแต่จะนำเสนอความเป็นไทยผ่านทางด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตคนกับเรือนไทยดั้งเดิมผ่านฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างน่าสนใจ

// เราต้องการดึงความเป็นไทยออกมาในงาน จึงพยายามจับคาแรคเตอร์ของความเป็นไทยในหลาย ๆ องค์ประกอบแล้วนำเสนอผ่านสถาปัตยกรรมยุคใหม่ //

โครงเหล็กขาวของเปลือกอาคาร ทำหน้าที่เป็นฉากรับสายตาที่ช่วยลดทอนองค์ประกอบของเรือนไทยดั้งเดิมให้ดูโมเดิร์นขึ้น

หลังจากทีมสถาปนิกเข้ามาดูไซต์ก่อนเริ่มงานก็พบว่า เรือนเดิมนั้นยังคงมีความสมบูรณ์อยู่ในระดับหนึ่ง จึงมองหาแนวทางในการทำงานที่จะรักษาและสะท้อนคุณค่าของเรือนไทยหลังเดิม โดยมีโจทย์ในการคงองค์ประกอบเดิมของเรือนไทยไว้ให้ได้มากที่สุดเป็นโจทย์อันดับต้น ๆ ในการออกแบบ หลังจากทำงานกันอย่างหนัก ผ่านการทดลองทั้งเรื่องของสัดส่วนและองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรือนไทย ผู้ออกแบบจึงเลือกดึงความเป็นไทยออกมาให้ร่วมสมัยขึ้น ผ่านทางฟาซาดที่นำมาครอบเรือนเดิมอีกครั้ง

ม่านโครงเหล็กที่โอบล้อมทั้งตัวเรือนช่วยพลางสายตาจากบุคคลภายนอกและสร้างความรู้สึกส่วนตัวให้กับผู้เข้าพัก
ส่วนล๊อบบี้ ผู้ออกแบบเก็บท้องพื้นเดิมของเรือนไทยไว้และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของดีไซน์ใหม่ได้อย่างลงตัว ทั้งจากการให้น้ำหนักสีที่ขับเน้นให้ส่วนเคาน์เตอร์ดูเด่นขึ้นและสัดส่วนของเส้นสายภายในที่อยู่ในจังหวะที่กำลังดี

ถึงแม้จะไม่ได้ปรับเปลี่ยนอาคารเดิมมากนักแต่ระยะเวลาการก่อสร้างก็กินเวลาถึง 2 ปี ด้วยความที่เป็นงานรีโนเวตเรือนไทยริมน้ำ จึงทำให้มีทั้งปัญหาจากการซ่อมแซมอาคารเดิมที่เป็นเสาสอบเข้าแบบเรือนไทยโบราณ ทั้งขนาดเสาที่ไม่เท่ากันและปัญหาหน้างานที่ไม่คาดคิด รวมไปถึงปัญหาหน้าดินสไลด์จากการที่ที่ดินอยู่ติดริมน้ำจึงต้องปรับปรุงพื้นที่กันอย่างจริงจัง

ตัวอาคารตั้งเป็นแนวยาวลึกเข้าไป เปิดมุมมองโปร่งโล่งทอดยาวสู่ศาลาริมน้ำภายในได้ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในโรงแรม

// เมื่อโจทย์คือต้องการงานที่ร่วมสมัย แต่วัตถุดิบคือเรือนไทยโบราณ สถาปนิกจึงเริ่มงานด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิม ว่าอะไรคือสิ่งที่สื่อสารถึงความเป็นเรือนไทยมากที่สุด //

เน้นสัดส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยด้วยการลดทอนหลังคาทรงมนิลาของเรือนเดิมให้กลายเป็นเส้นจั่วทรงสูงแล้วรวบเข้ากับสัดส่วนของตัวเรือนด้วยเส้นสายของโครงเหล็กที่ถูกดัดแปลงมาจากลายฝาปะกน
เงาตกกระทบของตัวเรือนบนพื้นแผ่นคอนกรีตที่เรียงสลับล้อกับลวดลายฟาซาดสร้างเสน่ห์ให้บรรยากาศภายนอกดูน่าสนใจ และสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปตามช่วงเวลาระหว่างวัน
เส้นสายของลูกตั้ง ลูกนอนที่วิ่งชนกันช่วยทำให้อาคารดูโมเดิร์นขึ้น แต่ยังคงได้กลิ่นอายแบบไทย ๆ อยู่ด้วยลวดลายที่ดัดแปลงมาจากฝาปะกน

หลังจากได้ศึกษาองค์ประกอบของเรือนไทยอย่างจริงจัง ก็พบว่าสัดส่วนของเรือนส่วนใหญ่นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ๆ นั่นก็คือ ส่วนใต้ถุนที่ถูกยกสูงส่วนตัวเรือน และส่วนที่สถาปนิกมองว่าเป็นลักษณะเด่นและภาพจำของเรือนไทยมากที่สุดนั่นก็คือ หลังคาทรงสูงด้วยความที่สถาปนิกต้องการให้อาคารมีความโมเดิร์นมากขึ้นแต่ก็ต้องการรักษาองค์ประกอบของเรือนหลังเก่าไว้ ขั้นตอนการออกแบบจึงเริ่มจากการลดทอนรายละเอียดและรวบสัดส่วนของตัวเรือนกับหลังคาซึ่งเป็นพระเอกของเรือนเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งจังหวะเสาบริเวณใต้ถุนใหม่เพื่อให้สอดรับกับแพทเทิร์นฝาปะกนของตัวเรือน จากนั้นนำเสนอสัดส่วนใหม่ที่ได้ออกมาในรูปของเปลือกอาคารโครงสร้างเหล็กร่วมสมัยที่ครอบเรือนไทยดั้งเดิมไว้

นอกจากเรื่องสัดส่วนของตัวเรือนไทยนั้น อีกสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือรายละเอียดลวดลายที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงความเป็นไทยโดยผู้ออกแบบเลือกใช้ลวดลายของฝาปะกนที่อยู่บนผนังเรือนเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในลวดลายดั้งเดิมที่นิยมใช้กับฝาผนังเรือนไทยส่วนใหญ่ โดยดึงเอาลักษณะเส้นสายของลูกตั้ง ลูกนอนที่วิ่งชนกันของฝาปะกนมาเรียบเรียงจังหวะใหม่แล้วประกอบเข้ากับสัดส่วนใหม่ของเปลือกอาคารโครงสร้างเหล็กภายนอก

นอกเหนือจากรายละเอียดทางด้านงานดีไซน์ ที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์และบรรยากาศร่วมสมัยของเรือนไทยออกมาแล้ว โรงแรมแห่งนี้ยังเปิดโอกาสให้เราได้ซึมซับประสบการณ์ผ่านฟังก์ชันการใช้งานของเรือนไทยดั้งเดิม ด้วยรูปแบบการจัดวางผังห้องน้ำที่แยกออกจากส่วนห้องพัก เช่นเดียวกับลักษณะการใช้งานในสมัยก่อนที่ห้องน้ำจะแยกออกจากตัวเรือน และในส่วนของชานกลางเรือนที่เชื่อมแต่ละห้องพักเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเรือนไทยภาคกลางที่ผู้ออกแบบต้องการคงไว้ และออกแบบให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นและจุดนัดพบเล็ก ๆ ตามฟังก์ชันเดิมของเรือน ถือเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ให้ผู้เข้าพักได้ดื่มด่ำกับเรือนไทยยุคใหม่ นอกเหนือจากความสวยงามทางสถาปัตยกรรม หากแต่สะท้อนไปถึงความสัมพันธ์ของคนกับเรือนไทยได้ครบทุกมิติอย่างแท้จริง

มุมมองจากภายในห้องพักทอดสู่มุมนั่งเล่นบริเวณชานกลางเรือนที่เป็นจุดเชื่อมทุกห้องเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นดั้งเดิมของเรือนไทยโบราณ
ฝาผนังภายในห้องพักถูกลดทอนเส้นสายลงจากภายนอก ทั้งสองฝั่งของห้องสามารถเปิดรับแสงธรรมชาติได้ตลอดทั้งวัน รวมไปถึงการเพิ่มเส้นโค้งมนให้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวก็ยิ่งช่วยทำให้บรรยากาศภายในดูเบาสบายน่าพักผ่อน

งานออกแบบที่ดีไม่เพียงแต่จะเคารพในบริบทโดยรอบและสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเท่านั้น หากแต่บุษบา อยุธยา ยังสะท้อนถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมยุคเก่าผ่านความเชื่อมโยงทางภูมิปัญญา และแนวความคิดดั้งเดิมออกมา ณ จุดร่วมของสถาปัตยกรรมระหว่างยุคสมัยแห่งนี้อีกด้วย

พิกัด: ถ.อู่ทอง อ.พระนครศีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
โทร: 061-396-8899
Facebook: BusabaAyutthaya

เรื่อง: วรรณลีลา
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

อ่านต่อ: พาออเจ้าไปสัมผัส “อยุธยา” ในสไตล์โมเดิร์นเคล้ากลิ่นกรุงเก่า คลิก

 

The post BUSABA AYUTTHAYA มิติการออกแบบของจุดร่วมสถาปัตยกรรมระหว่างยุคสมัย appeared first on บ้านและสวน.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 9916

Trending Articles


คลิปซูฉีอาบน้ำ เห็นหมด รีบดูก่อนโดนลบ


ยุงบินเหมือนกอดกัน 2 ตัว มันทำอะไรอยู่ครับ


ใครเคยสั่งครีมของ Ningchin shop บ้างคะ รีวิวครีมหน่อยคะ


แจกภาพพื้นหลัง iPhone สวยๆ (อัปเดต) หลายภาพหลายรูปแบบ


รหัสโอนเงิน tr to NATID คือ อะไรครับ


ใครรู้จักบริษัท the singular group บ้างครับ...


“โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์” อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีป้องกันและดูแลรักษา


Notability อัปเดตใหม่เพิ่มฟีเจอร์เปลี่ยนลายมือให้เป็นตัวพิมพ์ภาษาไทยได้แล้ว


วิธีนับข้อมูลใน Pivot แบบไม่นับตัวที่ซ้ำกัน (Distinct Count)


เล่นแร่แปรสูตร : การแปลงวันที่ Text ให้เป็นวันที่ Date