บ้านสไตล์โมเดิร์น อยู่สบาย น่าจะเป็นบ้านในฝันของใครหลายคน เพราะมีรูปทรงที่ดูทันสมัยรวมถึงดูแลรักษาง่าย แต่หารู้ไม่ว่าแดดจ้าพายุแรง อย่างในเมืองไทย อาจส่งผลให้บ้านดูโทรม ดังนั้นเราจึงต้องหาทางหนีทีไล่กันสักหน่อย ด้วยการทำให้บ้านโมเดิร์น เต็มไปด้วยฟังก์ชันที่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ ในแต่ละวัน โดยยังคงรูปฟอร์มสะอาดตาของบ้านโมเดิร์นอยู่เช่นเดิม
01 Breathing Wall
ผนังทึบทางทิศตะวันตก ช่วยลดการเผชิญหน้ากับแสงแดดโดยตรง ด้วยการทำผนังก่ออิฐมวลเบา บรรจุแผ่นโฟมฉนวนกันความร้อนเพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน หรือเลือกใช้การเว้นจังหวะของช่องว่างระหว่างวัสดุกรุผนัง เช่น การตีแผ่นไม้ซ้อน 2 ชั้น สับหว่างกัน มุมที่เหลื่อมกันนี้จะช่วยบดบังการมองเห็นจากภายนอก และระบายอากาศได้ดี หรือจะใช้การกรุแผ่นกระจกนิรภัยหนา 10 มิลลิเมตร แบบเหลื่อมกันเพื่อรับแสงสว่างและวิวธรรมชาติ
อีกทางเลือกคือการทำผนังเปิด-ปิดได้ เสมือนเป็นเปลือกอาคารปกป้องผนังส่วนที่เป็นกระจกไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยติดแผงระแนงเว้นช่องประมาณ 1.5 นิ้ว ทำเป็นบานเฟี้ยมหรือบานเลื่อน หรือจะใช้แผ่นไม้เนื้อแข็งกว้าง 20-25 เซนติเมตร หมุนออกได้เมื่อต้องการเปิดรับอากาศด้านนอก อย่าลืมติดตั้งระบบล็อก รวมทั้งทำขอบบังใบให้ปิดสนิทเป็นผนังทึบ
02. Double Roof
หลังคาคือส่วนที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงตลอดทั้งวัน แม้บ้านโมเดิร์นจะมีรูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมไปเสียหมด แต่เราก็เทคนิคการทำหลังคาให้เหมาะกับเขตมรสุมแบบเมืองไทย ช่วยกันรังสีจากดวงอาทิตย์และระบายน้ำฝน รวมถึงยังสามารถออกแบบให้ลมพัดผ่านระบายความร้อนออกจากตัวบ้านได้อย่างสบาย ๆ
สำหรับบ้านทรงกล่อง อาจยกขอบผนังโดยรอบให้สูงขึ้นเพื่อให้หลังคาลาดเอียง แล้วทำรางระบายน้ำฝนซ่อนไว้ด้านใน หรือทำ Flat slab กันการรั่วซึม แล้วจึงวางแผ่นโซลาร์สแลบหรือกระเบื้องคอนกรีตสำหรับปูดาดฟ้า ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา หรือจะทำหลังคาสองชั้นหันไปทางทิศเหนือ เพื่อให้ลมพัดผ่านช่องระหว่างหลังคาทั้งสองชั้น ช่วยลดความร้อนของชั้นดาดฟ้าได้อีกทางหนึ่ง
เหล็กเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับยกหลังคาชั้นที่สอง เพราะช่วยลดทอนขนาดให้ดูบางเบา ชั้นบนเป็นหลังคาคอนกรีตซ้อนด้วยเมทัลชีท กรุฉนวนกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้ความร้อนกระทบตัวบ้านโดยตรง
Tip : แผ่นโซลาร์สแลบ คือ แผ่นคอนกรีตกำลังอัดสูง ออกแบบให้ติดตั้งสูงขึ้นจากผิวหลังคาคอนกรีต 3 เซนติเมตร สามารถป้องกันความร้อน ถ่ายเทอากาศ และระบายน้ำได้ดี

03. Wind Flow
สืบเนื่องจากทิศทางของลมประจำถิ่นและแสงแดดตอนเช้าอยู่ทางทิศตะวันออก แล้วเคลื่อนตัวอ้อมไปทางใต้ในตอนบ่าย ก่อนจะตกในทิศตะวันตก เราจึงควรวางผังบ้านตามแนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อให้ด้านยาวของอาคารสัมผัสกับแสงธรรมชาติได้ตลอดทั้งวันจากทางทิศเหนือ รวมถึงรับลมและถ่ายเทความร้อนที่สะสมในอาคารทางทิศใต้
การแยกอาคารออกเป็นหลายส่วน แล้วเชื่อมส่วนกลางด้วยพื้นที่โล่ง สำหรับจัดเป็นสวน ขุดบ่อน้ำ สำหรับให้สมาชิกออกมานั่งพักผ่อนหรือสังสรรค์กันในครอบครัว เป็นวิธีช่วยเพิ่มพื้นที่เปิดรับอากาศภายนอกให้เข้ามาสู่ในบ้าน ช่วยให้บ้านไม่อุดอู้หรือทึบเกินไป
แต่สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด แนะนำให้ออกแบบโถงกลางที่มีเพดานสูง หรือมีช่องเปิดตรงบริเวณโถงบันได ก็จะช่วยให้อากาศไหลเวียนได้ดีขึ้น เพราะอากาศร้อนที่เบากว่าจะลอยขึ้นสู่ที่สูง พื้นที่พักอาศัยหรือมุมนั่งเล่นชั้นล่างจึงเย็นสบายปลอดโปร่งขึ้น

04. Nature Surrounded
สร้างความร่มรื่นรอบบ้านเพื่อให้มีบรรยากาศน่าอยู่ หรือที่เรียกว่า Comfort Zone ให้สมาชิกในบ้านได้สัมผัสกับธรรมชาติของต้นไม้ พื้นหญ้า และผิวดิน ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิภายนอกลงได้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยป้องกันแดด และละอองน้ำฝนก่อนสัมผัสกับตัวบ้าน รวมทั้งการขุดบ่อน้ำ หรือสร้างสระว่ายน้ำก่อนเข้าถึงตัวบ้าน เปรียบเหมือนแนวแบร์รีเออร์ช่วยลดอุณหภูมิของไอความร้อนจากด้านนอกก่อนพัดเข้าบ้านได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนพื้นทางเดินในสวน ควรหลีกเลี่ยงการใช้พื้นคอนกรีตแบบผืนเดียว เพราะคอนกรีตเป็นตัวสะท้อนและคายความร้อน ทำให้อุณหภูมิรอบบ้านสูงขึ้น แนะนำให้เลือกใช้เป็นแผ่นหิน หรือไม้ระแนงปูเว้นร่องเพื่อระบายน้ำลงสู่พื้นดินจะดีกว่า
05. Void & Windows
กระจกเป็นอีกผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่มาจากแนวคิดยุคโมเดิร์น สำหรับการนำกระจกมาใช้กับบ้านก็เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนอกบ้านและในบ้าน แต่สำหรับเมืองไทยที่มีแดดแรงเกือบตลอดวัน ควรคำนึงถึงทิศทางและรูปแบบของช่องหน้าต่าง ให้สามารถเปิดรับลมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ได้อย่างสะดวก หรือจะเลือกใช้กระจกตัดแสงก็เป็นอีกทางเลือกที่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย เพราะสามารถกรองแสงแดดจ้าให้เบาบางลง และช่วยกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
รูปแบบของหน้าต่างกระจก อาจเป็นกระจกบานติดตายแบบสองชั้นเพื่อรักษาความเย็นภายในบ้าน หรือจะเลือกแบบเป็นบานเกล็ด และบานกระทุ้งก็ช่วยรับลมได้อย่างดี ป้องกันคนปีนเข้ามาได้ และอย่าลืมคำนึงถึงระดับความสูงของหน้าต่างให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาได้อย่างเย็นสบาย

06. Wall Shading
สำหรับการทำชายคาให้ยื่นออกมา จากแนวผนังเพื่อช่วยป้องกันความร้อน ของแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และความรุนแรงของพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูฝน อาจใช้การร่นหน้าต่างเข้าไปจากแนวเสา โดยไม่ต้องสร้างหลังคาชั้นล่างให้บ้านอีก ข้อดีของวิธีนี้คือ ช่วยป้องกันไม่ให้อากาศร้อนสัมผัสกับตัวบ้านโดยตรง หรืออาจเพิ่มลูกเล่นให้บ้านด้วยแสงเงา ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยติดตั้งแผงระแนงไม้ หรืออะลูมิเนียม ทำสีให้มีระยะห่างออกมาจากผนังบ้าน เฉพาะด้านที่โดนแสงแดดมาก ๆ กรณีที่แผงระแนงมีความสูงหลายชั้น ควรติดตั้งตะแกรงเหล็กฉีกคั่นแต่ละชั้น เพื่อความปลอดภัย ระแนงนี้นอกจากจะมีประโยชน์เรื่องป้องกันความร้อนและระบายความชื้นแล้ว ยังทำหน้าที่ปกป้องบ้านเหมือนเป็นเหล็กดัดไปในตัว
Did you know?
ประเทศไทยตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร จัดว่ามีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หรือ Tropical Climate ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 18-34 องศาเซลเซียส อยู่ภายใต้ลมมรสุม 2 แบบ คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พามวลอากาศจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามา เกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเอาอากาศหนาวเย็นมาจากแถบมองโกเลียและจีนในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์
อ่านต่อไอเดีย สร้างบ้านโมเดิร์นวิถีไทย>> 9 TIPS COOL HOUSE, COOL DESIGN สร้างบ้านเย็นในเมืองใหญ่
เรื่อง : skiixy
ภาพ : แฟ้มภาพนิตยสาร room ภาพประกอบ : คณาธิป
เรียบเรียง : Parichat K.
The post 6 หลักการ ทำบ้านโมเดิร์นแบบอยู่สบาย appeared first on บ้านและสวน.